WATTHAI

เขตธนบุรี
by
Nisakorn Thaosombat
Manit Chaisansuk
Computer Science BSRU.


ก่อนจะมาเป็น Application WATTHAI


   ประเพณี วัฒนธรรม ที่คนโบราณคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ล้วนเป็นการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยและวิถีการดำรงอยู่ของผู้คน ตลอดจนเป็นการสื่อความถึงจารีตวัฒนธรรมและข้อปฏิบัติของยุคสมัย วัดเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวของยุคสมัยรวมถึงประเพณี วัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน และประวัติศาสตร์ที่สำคัญทางศาสนาไว้ด้วย วัดในประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่คือพระอารามหลวงและวัดราษฏร์

   ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยให้การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันมีความรวดเร็วและสะดวกสบายรวมถึงการเดินทาง การค้นหาสถานที่ หรือจุดสำคัญที่อยากเดินทางไป มีการใช้เทคโนโลยีแบบอุปกรณ์พกพาที่มีการติดตั้งระบบ GPS และ MAP ทำให้การเดินทางหรือค้นหาสถานที่เป็นไปได้อย่างง่ายดายและมีความถูกต้องแม่นยำโดยระบบ GPS จะทำหน้าที่รับค่าพิกัดจากผู้ใช้งานและทำการอ้างอิงจากตำแหน่งโดยรับส่งสัญญาณจากดาวเทียมระบบนี้มีชื่อว่า Global Navigation Satellite System

   ผู้วิจัยได้เล็งเห็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่างๆในกรุงเทพมหานครซึ่งผู้วิจัยได้เห็นถึงความสำคัญของวัดที่มีต่อประชาชนชาวไทยพุทธผู้วิจัยจึงยกกรณีศึกษาคือการค้นหาวัดในเขตธนบุรีทั้ง 25 แห่ง โดยทำการเริ่มต้นพัฒนา Application ให้สามารถทำงานบนอุปกรณ์แบบพกพาหรือโทรศัพท์มือถือแบบพกพาที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาและเดินทางไปยังวัดที่อยู่ในเขตธนบุรีได้โดยผู้วิจัยโครงการมุ้งเน้นให้สามารถใช้งานได้กับกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัยสามารถที่จะเดินทางโดยรถส่วนตัว หรือรถโดยสารประจำทางก็สามารถเดินทางไปยังวัดที่ต้องการได้แล้วยังสามารถอ่านข้อมูลของวัดที่ผู้ใช้งานต้องการที่จะทราบประวัติความเป็นมาได้ด้วย โดยผู้วิจัยได้ตั้งชื่อ Application นี้ว่า WATTHAI


วัดราษฎร์


   วัดราษฏร์ หมายถึง วัดที่พุทธศาสนิกชนอันเป็นประชาชนที่วไป ซึ่งมีจิตศรัทธาได้รวมใจร่วมกันบริจาคทรัพย์หรือที่ดินถวายเป็นสังฆาราม หรือรวมใจกันสร้างขึ้น หรือบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของชุมชน โดยได้รับการประกาศให้มีการก่อตั้งวัดถูกต้องตามกฎหมายจากทางราชการ หรือได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเช่นเดียวกันกับพระอารามหลวง

   การก่อสร้างวัดของพุทธศาสนิกชนชาวไทยเท่าที่มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งไม่เพียงเกิดจากความต้องการศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรม การทำบุญรวมถึงการบำเพ็ญกุศลในทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากความศรัทธาอย่างแรงกล้า ด้วยเชื่อว่า การสร้างวัดเป็นอานิสงส์สูงสุด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า “ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นเชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง” (สังยุตตนิกายสคาถวรรค) “ผู้ให้ที่พักอาศัย ย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน เขาตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์” (วนโรปสูตร) นอกจากนี้ ในวิหารทานกถาอันเป็นกถาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ทั่วไป เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่า การถวายวิหารหรือวัดให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่ภิกษุสงฆ์เป็นสมุฏฐานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งผู้รับและผู้ถวาย ซึ่งทรงแสดงอานิสงส์ไว้ว่า เป็นยอดของสังฆทานเป็นปัจจัยอันเกื้อหนุนให้ประสบความเกษมศานต์จนบรรลุถึงพระนิพพานในที่สุด

   การก่อสร้างวัดของพุทธศาสนิกชนชาวไทยจึงปรากฏขึ้นทั่วไปอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่มีการก่อตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชน ด้วยไม่เพียงแต่มุ่งหมายให้วัดเป็นศูนย์กลางแห่งการเผยแผ่พระพุทธธรรมคำสอนเท่านั้นหากแต่ยังเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างความสามัคคีของผู้คนในชุมชน ทั้งยังเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจแห่งการยึดเหนี่ยวการประกอบกรรมดีระหว่างกันเป็นสรณะนับเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

View Page


พระอารามหลวง


  พุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่ามาแต่ครั้งโบราณกาลเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงและมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงฟื้นฟูกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเฉกเช่นกรุงศรีอยุธยาในอดีตทรงทำนุบำรุงพระศาสนานานัปการ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฏก (พ.ศ. 2331) และออกกฎหมายสงฆ์ (พ.ศ. 2326) เพื่อชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ เป็นหลักปฏิบัติแก่พระภิกษุและฆราวาสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามที่มีอยู่มาตั้งแต่ครั้งเมืองบางกอกและทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากพระบรมวงศานุวงศ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ล้วนแล้วแต่มีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงสืบสานพระราชปณิธานขององค์ปฐมบรมกษัตริย์ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยการบูรณปฏิสังขรณ์และการสร้างพระอารามถวายเป็นพระราชกุศลอีกมาก

   พระอารามที่ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์เหล่านี้เรียกว่า พระอารามหลวง ซึ่งมีความหมายต่างจากในสมัยอยุธยาที่มีความหมายครอบคลุมเพียงวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์เท่านั้น ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์พระอารามหลวงมีความหมายรวมถึงวัดบางแห่งที่โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา หรือแก่วัดเอง หรือพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ทรงสร้างหรือสร้างขึ้น หรือโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะหรือสร้างขึ้นแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงด้วย   สมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 มีการกำหนดแบ่งชนิดของพระอารามหลวงตามลำดับความสำคัญออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ พระอารามหลวงชั้นเอก โท และตรี ดังนี้

ชั้นเอก

ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญบรรจุพระบรมอัฐิหรือพระสรีรางคาร หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ชนิด คือ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร และวรมหาวิหาร

ชั้นโท

ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ หรือวัดที่มีเกียรติ มี 4 ชนิด คือ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร และวรวิหาร

ชั้นตรี

ได้แก่ วัดที่มีเกียรติ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดสามัญ มี 3 ชนิด คือ ราชวรวิหาร วรวิหาร และสามัญ อีกทั้งสามารถแบ่งชนิดและขนาดของพระอารามหลวงได้ดังนี้

ราชวรวิหาร

ได้แก่ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์

วรวิหาร

ได้แก่ พระอารามที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมาหรือแก่วัดเอง รวมทั้งเป็นวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง ควรยกเป็นเกียรติยศจัดว่าเป็นวัดที่มีเกียรติ

ราชวรมหาวิหาร

ได้แก่ พระอารามประเภทราชวรวิหารที่เป็นพระอารามขนาดใหญ่ และมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่

วรมหาวิหาร

ได้แก่ พระอารามประเภทวรวิหารที่เป็นพระอารามขนาดใหญ่ และมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่

สามัญ

ได้แก่ พระอารามหลวงที่ไม่เข้าในหลักเกณฑ์ข้างต้น




View Page


Free Web Hosting