ประเภทวัด พระอารามหลวง
นิกาย มหานิกาย
ปีที่ตั้ง 2321
ปีที่รับวิสุงคามสีมา 2397
LatLng 13.728924, 100.490469
วัดเขตธนบุรี
ประเภทวัด พระอารามหลวง
นิกาย มหานิกาย
ปีที่ตั้ง 2321
ปีที่รับวิสุงคามสีมา 2397
LatLng 13.728924, 100.490469
วัดหิรัญรูจีตั้งอยู่ริมถนนประชาธิปก ฝั่งธนบุรี ใกล้กับคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) เดิมชื่อวัดน้อย สร้างขึ้นในสมัยธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2321 โดยเจ้าขรัวเงิน พระบิดาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี (สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ส่วนเหตุที่ชื่อว่า วัดน้อย น่าจะหมายถึง วัดที่ผู้เป็นน้องได้สร้างไว้คู่กับวัดใหญ่ (วัดใหญ่ศรีสุพรรณ) ซึ่งสร้างโดยเจ้าขรัวทองพี่ชายของเจ้าขรัวเงิน
วัดนี้ยังมีผู้เรียกว่า วัดน้อยบางไส้ไก่ ด้วยตั้งอยู่ติดกับคลองบางไส้ไก่ สันนิษฐานว่า แต่เดิมวัดน้อยอยู่ใกล้คลองบางกอกใหญ่มากกว่าปัจจุบัน แต่เนื่องจากกระแสน้ำไหลกัดเซาะตลิ่งบางตอนและพาดินตะกอนมาทับถม ทำให้ลำคลองบางช่วงเปลี่ยนแปลงไป เป็นผลให้ที่ตั้งของวัดน้อยอยู่ห่างจากคลองบางกอกใหญ่มากขึ้นกว่าในอดีต ดังปรากฏในบันทึกจดหมายเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงบรรยายถึงพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่ว่า “...อย่างหนึ่งให้สังเกตด้วยวัด วัดเรียงไปตามข้างดอนแต่ปากคลองไปจนจดวัดสังกระจายก็ฝั่งกะดีจีน ไม่มีวัดเพราะเป็นแม่น้ำเก่า คือวัดดอกไม้ วัดใหญ่ วัดน้อยบางไส้ไก่ วัดเหล่านี้บนฝั่งแม่น้ำโบราณ...”
คำว่า “ไส้ไก่” สันนิษฐานว่า แผลงมาจากคำว่า “จักกาย” ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งปลัดนายกองในภาษามอญและเรียกเพี้ยนเป็น “สะกาย” และ “บางไส้ไก่” ในปัจจุบัน บริเวณคลองบางไส้ไก่มีชุมชนมอญจากเมืองทวายและเมืองมะริดที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่มาก มีความชำนาญทางเรือ จึงทำหน้าที่เป็นฝีพายเรือหลวงในกรุงสยาม ซึ่งกองเรือหลวงนี้อยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเป็นที่มาของชื่อเรียก “มอญบางไส้ไก่” หรือ “มอญบ้านสมเด็จ”
นอกจากนั้น ยังมีชุมชนลาวที่สันนิษฐานว่า เกิดจากการกวาดต้อนเชลยศึกกบฏเมืองเวียงจันทน์ในสมัยธนบุรีและโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ เรียกว่า “ลาวบางไส้ไก่” ซึ่งยังสามารถพบเห็นอาชีพที่สะท้อนภาพของวัฒนธรรมลาว คือ การทำขลุ่ยและแคน ที่สืบทอดต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
ในสมัยของรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสีหราช เดโชไชย (แก้ว) เป็นแม่กองบูรณะวัดแห่งนี้ ต่อมา พระยาอนุชิต (สันนิษฐานว่า คือ พระยาอนุชิตชาญไชย (อุ่น) หนึ่งในตุลาการ ซึ่งรัชกาลที่ 4 มีรับสั่งให้ชำระความคดีเจ้าจอมมารดากลีบกับพวกว่า ทำเสน่ห์ยาแฝดใส่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราช) มีศรัทธาสร้างอุโบสถใหม่ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดหิรัญรูจี ซึ่งมีความหมายว่า “เงิน” ตามนามของเจ้าขรัวเงิน พระอัยกา และโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยเงินทั้งองค์ ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำวัดสันนิษฐานว่า ภายหลังทางวัดได้ทำการพอกปูนปั้นทับองค์พระพุทธรูปเงินและลงรักปิดทองดังที่ปรากฏในปัจจุบัน