WATTHAI

วัดเขตธนบุรี

วัดอินทารามวรวิหาร



   ประเภทวัด   พระอารามหลวง
   นิกาย   มหานิกาย
   ปีที่ตั้ง   2300
   ปีที่รับวิสุงคามสีมา   2345
   LatLng   13.722727,   100.483277

ประวัติวัดอินทารามวรวิหาร


   วัดอินทาราม เป็นวัดสำคัญของสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นวัดอนุสรณ์สันติสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาวีระกษัตริย์ของไทยเราทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์เป็นชีวิตจิตใจหลายอย่าง ที่นับว่าสำคัญน่าชมและศึกษา คือพระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีลแลทรงเจริญกรรมฐาน ประวัติที่น่าศึกษาของวัดนี้คือ เป็นที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ และบรมศพพระอัครมเหสีของพระองค์ ก็ได้ถวายพระเพลิงและบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดนี้ทั้งสองพระองค์

   วัดอินทารามขณะนี้เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท ปากคลองบางยี่เรือ ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (แต่เดิมหน้าวัดอยู่ทางคลองบางกอกใหญ่ แต่เมื่อตัดถนนแล้ว จึงใช้ทางหลวงเป็นหน้าวัดด้วย) เนื้อที่ของวัดนี้เดิมเป็นแปลงเดียวตลอดกันทั้งวัด ต่อมาทางรถไฟสายมหาชัยได้ตัดทางเข้ามาทางหลังวัด กินเนื้อที่วัดเข้ามาเขตตะวันออกจดคลองบางยี่เรือ (คลองสำเหร่) และเทศบาลนครธนบุรีได้ตัดทางรถยนต์เข้ามาทางด้านตะวันออก เฉียดกำแพงรอบนอกพระอุโบสถจดถึงลำคลองบางยี่เรือ เพราะเหตุนี้วัดจึงแยกเป็นสองแปลง เนื้อที่ตั้งวัดประมาณ ๑๕ ไร่ ๒ งาน เป็นที่ธรณีสงฆ์สำหรับจัดหาผลประโยชน์บำรุงวัดประมาณ ๙ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๕ ไร่วัดอินทารามวรวิหารเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดบางยี่เรือนอก” คู่กับวัดราชคฤห์ซึ่งเรียกว่า “วัดบางยี่เรือใน” วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด เพิ่งปรากฏในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ร่วงโรยมากและเป็นวัดเล็ก ๆ อย่างบ้านนอกไกล ๆ แบบเดี๋ยวนี้ ต่อเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง วัดนี้บังเอิญเป็นที่ประสพพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างถึงขนาด ขยายที่ทางไว้เป็นอันมาก แล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลอย่างใหญ่ ๆ หลายครั้งก่อนที่กล่าวประวัติวัดอินทารามต่อไป ควรจะทราบหลักฐานที่มาของนามเก่าเสียก่อน ที่เดิมเรียกวัดบางยี่เรือนอกนั้น เพราะเมืองธนบุรีเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ที่วัดคูหาสวรรค์ (วัดศาลาสี่หน้า) ในคลองบางกอกใหญ่ จากเมืองเก่ามาก็ต้องถึงวัดราชคฤห์ก่อน จึงเรียกวัดราชคฤห์ว่า “วัดบางยี่เรือใน” ส่วนวัดจันทารามอยู่กลาง จึงเรียกว่า “วัดบางยี่เรือกลาง” ถัดมาก็ถึงมาก็ถึงวัดอินทารามเรียกกันว่า “วัดบางยี่เรือนอก” การที่เรียกวัดบางยี่เรือนอก ก็เพราะในสมัยก่อนไม่ค่อยได้ตั้งชื่อวัดให้ไพเราะเหมือนอย่างสมัยทุกวันนี้ คือวัดอยู่ที่ไหนก็เรียกตามสถานที่ตำบลนั้น และถ้าบังเอิญตำบลนั้นมีหลายวัดที่เรียกวัดใกล้ว่าวัดใน วัดถัดออกไปว่าวัดกลาง วัดสุดท้ายว่าวัดนอก (วัดที่เรียงกันไป) ตามแต่ที่จะเข้าใจกันตามยุคตามสมัย หรือเรียกตามสถานที่บางอย่าง เช่น วัดเวฬุราชิณ เรียกกันว่า “วัดใหม่ท้องคุ้ง” ก็เพราะตรงที่วัดนั้นเป็นคุ้งน้ำใหญ่ในคลองบางกอกใหญ่แห่งหนึ่ง มีเรื่องเล่ากันว่าพื้นที่ตามริมคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นแขวง (ตำบล) บางยี่เรืออยู่ในขณะนี้นั้น

   ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นป่าสะแกทึบ แต่ฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ลุ่มมีหญ้าและกกขึ้นอยู่ในน้ำตื้น ๆ คล้ายป่าพลุ ถ้าหากมีเรือล่องมาจากลำคลองจะต้องอ้อมคุ้งมองเห็นบริเวณป่าในระยะไกลได้ถนัด ชายป่าริมฝั่งตรงนี้เองได้เป็นชัยภูมิของทหารไทยใช้เป็นซุ่มดักยิงเรือของข้าศึกที่ผ่านออกมาอย่างไม่ระมัดระวัง อาการที่ซุ่มยิงอย่างนี้เรียกว่า “บังยิงเรือ” กลายเป็นชื่อตำบล(แขวง)นั้น ต่อมาเพี้ยนเป็น “บางยิงเรือ” แล้วก็ “บางยี่เรือ” ในที่สุดด้วยเหตุนี้จึงเป็นอันได้ความว่า วัดอินทารามที่เรียกว่าบางยี่เรือนนอก ด้วยเหตุตั้งอยู่ด้านนอก เพราะนับจากเมืองธนบุรีเก่าออกมา หลักฐานเช่นนี้จึงได้รู้ว่าวัดอินทารามได้นามว่า วัดบางยี่เรือนอก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะปรากฏว่าครั้งสมเด็จพระชัยราชา ได้โปรดให้ขุดคลองไปต่อกับคลองบางกอกน้อย ซึ่งส่วนที่ลัดระหว่างคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่ ถูกน้ำเซาะกลางออกไปกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในภายหลังต่อมานอกจากจะเคยเรียกกันว่าวัดบางยี่เรือนอก วัดนี้ยังเคยมีชื่อเรียกกันอีกหลายอย่าง เช่น วัดสวนพลู เพราะครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังอยู่ในพระราชสมบัติ ที่ดินใกล้เคียงวัดอินทาราม มีคนทำเป็นนา เมื่อเลิกจากนากลายเป็นสวนขึ้นแล้วก็มีการทำสวนพลูขึ้น ต่อมาก็เลยเรียกตามสิ่งใกล้เคียงนี้ว่า วัดสวนพลู ปัจจุบัน กลายเป็นสวนอื่น ๆ ไปหมด วัดใต้ ที่เรียกกันติดปากกันมาก็ได้แก่วัดบางยี่เรือใต้ เรียกตามที่ตั้งตัวเมืองเก่า ตัดคำว่า “บางยี่เรือ” ออกเสีย เช่นเดียวกับวัดจันทาราม ซึ่งติดกับวัดนี้อันเคยมีนามเดิมว่าวัดบางยี่เรือกลาง ก็เรียกว่า “วัดกลาง” คำเดียว ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ วัดอินทารามมีชื่อเรียกว่า วัดบางยี่เรือไทย โดยที่มีวัดบางยี่เรือรามัญ เรียกสั้น ๆ ว่า วัดมอญ จึงพากันเรียกวัดนี้ว่าวัดบางยี่เรือไทย วัดนี้มาได้ชื่อว่าวัดอินทารามในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ข้อมูลทั่วไป


 ชื่อ : วัดอินทารามวรวิหาร (วัดใต้)
 ที่อยู่ : 432 เทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กทม 10600
 เบอร์โทร : 024650186,028914172

MAP


Start:
End:

Free Web Hosting